
เราหลายคนเป็นคนรักสุนัขนำมาเลี้ยงบ้าง
ให้ความเมตตาแก่สุนัขที่เราไม่ได้เลี้ยงแต่พเนจรร่อนเร่อยู่ข้างถนนบ้าง
เพราะคนไทยใจดีและมีความเชื่อลึกๆ อยู่ในใจว่าสุนัขก็มีความคิดเหมือนคนด้วย
นั่นคือรักเจ้าของอย่างสนิทเสน่หา เหมือนกับที่คนรู้สึกกับคน
ในประเด็นหลังนี้น่าคิดว่า สุนัขนึกคิดและมีความผูกพันอย่างคนกับคนจริงหรือไม่
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
ความรักของสุนัขต่อเจ้าของหรือที่เรามักเรียกว่าความจงรักภักดีนั้น
โดยธรรมชาติแล้วสุนัขเพียงต้องการความเป็นสังคมเท่านั้นเอง
การได้อยู่ร่วมกับมนุษย์นั้นก็เปรียบเสมือนได้อยู่ภายในสังคมของมนุษย์
โดยมีมนุษย์ที่เป็นเจ้าของเป็นผู้นำฝูงหรือจ่าฝูง สุนัขจึงมีความเชื่อมั่นและเคารพเชื่อฟังต่อผู้นำ
ที่สามารถประกันความปลอดภัยจากภยันตรายต่อตน
มองในแง่ของคนก็เหมือนกับเป็นความรักของสุนัขต่อเจ้าของ
แต่พฤติกรรมที่แฝงอยู่คือความจงรักภักดีที่เกิดจากการยอมตามผู้นำฝูงนั่นเอง
ความรักของสุนัขจึงเปรียบเทียบกับความรักของคนไม่ได้
นอกจากนั้นสุนัขแต่ละสายพันธุ์ต่างมีความฉลาดและความสามารถในการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน
การรับฟังคำสั่งย่อมแตกต่างกัน เพราะแต่ละพันธุ์เกิดขึ้นจากการคัดพันธุ์ของมนุษย์
เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่หลากหลาย เรียกว่าความฉลาดเฉลียว
ซึ่งจะนำไปสู่ความเคารพเชื่อฟังและการปฏิบัติตามคำสั่ง
ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ภายในอย่างเดียว
แต่อะไรก็ตามที่เป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกัน
ถึงจะแตกต่างไปจากคนซึ่งมีความสามารถทางสมองอีกระดับหนึ่ง ก็นับเป็นเรื่องดีงามเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น